xxx นกอีแพรด
Fantail เป็นนกที่นักดูนกอย่างเราคงจะคุ้นเคยกันดี
เพราะเป็นนกที่พบได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะนกอีแพรดแถบอกดำ ที่สามารถพบได้ตามบ้านเรือน
จนเป็นเหมือนเพื่อนบ้านที่พวกเราคุ้นเคย
xxx
นกอีแพรดจัดอยู่ในเหล่าอีแพรด
(Tribe Rhipidurini) วงศ์ย่อยนกแซงแซว ( Subfamily Dicrurinae )
อันดับนกเกาะคอน ( Order PASSERIFORMES ) เป็นนกที่มีลักษณะเด่นตรงนิสัยที่ชอบแผ่หางในขณะหากินไปตามต้นไม้
จนได้ชื่อว่า Fantail หรือหางเป็นรูปพัด เป็นนกที่กินแมลง สัตว์ตัวเล็กๆ
เป็นอาหาร โดยในประเทศไทยมี 5 ชนิด คือ
xxx 1. นกอีแพรดท้องเหลือง
Yellow-bellied Fantail Rhipidura hypoxantha
เป็นนกขนาดเล็ก 11-12 cm. เป็นนกที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดานกอีแพรด
และแตกต่างจากนกอีแพรดชนิดอื่น เพราะลำตัวจะมีสีเหลืองอยู่ด้วย ส่วนนกชนิดอื่นจะมีเพียงสีขาวดำเท่านั้น
นกชนิดนี้จะพบได้ในป่าดิบเขาทางภาคเหนือ ตั้งแต่ความสูง 1500 เมตรขึ้นไป
xxx 2. นกอีแพรดคอขาว
White-throated Fantail Rhipidura albicollis
เป็นนกขนาดเล็ก 17-20 cm. เป็นที่พบได้ง่ายตามป่าดิบเขา โดยมักพบหากินเป็นฝูงร่วมกับนกชนิดอื่น
(Birds Wave) สามารถพบได้ตั้งแต่ความสูง 600 เมตรขึ้นไป
xxx 3. นกอีแพรดคิ้วขาว
White-browed Fantail Rhipidura aureola
เป็นนกขนาดเล็ก 16-19 cm. จัดว่าเป็นนกอีแพรดที่พบยากในเมืองไทย
เพราะจะอาศัยอยู่เฉพาะในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณเท่านั้น แต่มักพบในป่าเต็งรังมากกว่า
ซึ่งเป็นป่าที่อยู่สูงไม่เกิน 900 เมตร เราจึงพบนกชนิดนี้ได้ไม่เกิน
900 เมตร
xxx 4. นกอีแพรดแถบอกดำ
Pied Fantail Rhipidura javanica
เป็นนกขนาดเล็ก 17-19 cm. เป็นนกอีแพรดที่พบได้บ่อยที่สุดในเมืองไทย
เพราะจะอาศัยตามป่าละเมาะ ป่าชั้นสอง สวนสาธารณะ พื้นที่เกษตร บ้านเรือน
ป่าชายเลน ฯลฯ มักพบใกล้น้ำ และไม่ค่อยพบตามป่าดงดิบ
xxx 5. นกอีแพรดอกลายจุด
Spotted Fantail Rhipidura perlata
เป็นนกขนาดเล็ก 17-18 เป็นนกอีแพรดที่หายากที่สุดในประเทศไทย
มักพบตามป่าที่ราบต่ำในภาคใต้ โดยมีโอกาสพบมากที่สุดในป่าบริเวณใต้สุดของประเทศ
xxx
ถ้าดูข้อมูลแล้วเราจะเห็นว่านกอีแพรดแต่ละชนิดอาศัยอยู่ในที่ที่แตกต่างกัน
โดยแทบจะไม่ซ้ำที่กันเลย มีเพียงนกอีแพรดท้องเหลืองกับนกอีแพรดคอขาวที่มีโอกาสพบอยู่ด้วยกันในบริเวณป่าดิบเขาที่สูงเกิน
1500 เมตรเท่านั้น การที่เราพบนกอีแพรดในธรรมชาติ เราจึงสามารถบอกได้ว่า
เราอยู่ในป่าชนิดไหน และความสูงเป็นเท่าไหร่ได้ เช่น ถ้าเราพบนกอีแพรดท้องเหลือง
แสดงว่าเราอยู่ทางภาคเหนือ และอยู่ในป่าดิบเขาที่มีความสูง 1500
เมตรเป็นอย่างน้อย ถ้าเราพบนกอีแพรดคิ้วขาว ก็แสดงว่าเราอยู่ในป่าเต็งรังหรือป่าเบญจพรรณ
ความสูงไม่เกิน 900 เมตร หรือเราพบนกอีแพรดอกลายจุด แสดงว่าเราอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ
และความสูงไม่น่าเกิน 200 เมตร จะเห็นได้ว่านกอีแพรดช่วยให้เราจำแนกประเภทของป่า
และประมาณความสูงจากระดับน้ำทะเลได้
xxx
เรื่องราวของนกอีแพรดคงจะทำให้หลายคนเริ่มนึกถึงนกชนิดอื่นๆ
ว่ามีนกกลุ่มไหนบ้างที่มีที่อยู่อาศัยแตกต่างกัน จนทำให้เราสามารถจำแนกชนิดของป่าและระดับความสูงจากนกที่พบได้
ลองเปิดคู่มือดูนกดูนะครับจะเห็นว่ามีหลายกลุ่ม แล้ววันหลังเรามาลองดูนกพิเศษชนิดอื่นๆ
กันต่อ
|