เตรียมตัวดูนก

เราขอแนะนำความรู้เบื้องต้นสำหรับการดูนก เนื่องจากการดูนกเป็นกิจกรรมที่ต้องมีอุปกรณ์ เครื่องใช้ และทักษะบางอย่าง

| การเลือกกล้องส่องทางไกล | กล้อง Binoculars | กล้อง TeleScope | คู่มือดูนก |
| การเตรียมตัวดูนก | การค้นหานก |

กล้องส่องทางไกลแบบสองตา (Binoculars) หรือมักเรียกกันว่า กล้อง Binoc เป็นกล้องที่มีคุณสมบัติสามารถดึงเอาภาพวัตถุที่อยู่ไกลๆ ให้เข้ามาใกล้ขึ้น จึงทำให้เราสามารถมองเห็นรายละเอียดของวัตถุชิ้นนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น กล้อง Binoc ในปัจจุบันแบ่งออกได้เป็นสองประเภท โดยมีชื่อเรียกตามชนิดของปริซึม Prism ที่กล้องตัวนั้นใช้อยู่

กล้อง Binoc แบบ Porro Prism เป็นกล้องที่มีมานานแล้ว เราสามารถสังเกตว่าเป็นกล้องชนิดนี้ได้ง่ายๆ จากการที่เลนส์วัตถุหรือเลนส์ด้านหน้าของกล้องที่มีขนาดใหญ่กว่า ตั้งอยู่ในแนวที่เยื้องกับเลนส์ตา กล้องชนิดนี้เป็นกล้องที่การพัฒนามาอย่างยาวนาน จึงมีคุณภาพดีถึงดีมาก แข็งแรง ซ่อมแซมง่าย และยังมีราคาถูกเนื่องจากสร้างได้ง่าย ข้อเสียคือมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก อีกทั้งมักจะมีรูปร่างไม่ค่อยสวยงาม จึงไม่เป็นที่นิยมของนักดูนกที่จำเป็นต้องสะพายกล้องเป็นเวลานานๆ


กล้อง Binoc แบบ Roof Prism เป็นกล้องที่ได้รับการพัฒนามาในช่วงหลัง เนื่องจากการใช้เทคโนโลยี่ชั้นสูงในการออกแบบ จึงได้ Prism ที่มีขนาดเล็กลง กะทัดรัด กล้องชนิดนี้ตัวเลนส์วัตถุจะเป็นแนวเส้นตรงกับเลนส์ตา ทำให้กล้องมีลักษณะเป็นท่อตรง คุณภาพของกล้องประเภทนี้จะดีมาก เนื่องจากมักจะเป็นกล้องระดับโปรของผู้ผลิต น้ำหนักเบาเหมาะกับการสะพายนานๆ แต่มักจะมีราคาแพง และไม่แข็งแรงเท่ากล้องแบบ Porro Prism ถ้ามีปัญหาจะซ่อมแซมได้ยากกว่า

ขนาดของกล้องส่องทางไกลจะกำหนดด้วยเลข 2 ชุด ซึ่งหมายถึงกำลังขยายและขนาดเลนส์วัตถุ เช่น 8x 40 จะมีความหมายว่า มีกำลังขยาย 8 เท่าและมีเลนส์วัตถุขนาด 40 มม. และจากค่าทั้งสองเราก็จะได้ค่าความสว่างจาก การนำขนาดของเลนส์หารด้วยกำลังขยาย เช่น กล้องขนาด 8x40 จะมีความสว่างเท่ากับ 5 เป็นต้น กล้อง Binoc ที่เหมาะสมกับการดูนก จะมีกำลังขยายอยู่ในราว 7-10 เท่า และมีความสว่างราว 4-5 เท่า ส่วนขนาดของกล้อง Binoc ที่นิยมใช้ในการดูนกกันคือ กล้องขนาด 7x35 , 8x40(42),10x40(42)


การเลือกซื้อกล้อง Binoc ขอแนะนำให้เลือกจากงบประมาณที่มีอยู่ ถ้ามีงบเพียงพอก็ขอให้เลือกกล้องแบบ Roof Prism เพราะจะให้ความสบายและคุณภาพที่ดีกว่า แต่ถ้าในราคาที่เท่ากัน กล้องแบบ Porro Prism จะมีคุณภาพที่ดีกว่า ดังนั้นการตัดสินใจจึงค่อนข้างยากสำหรับคนที่ไม่เคยซื้อหรือใช้กล้องส่องทางไกลมาก่อน แต่มีคำแนะนำง่ายๆ ให้คือ ลองซื้อกล้องแบบ Porro Prism ก่อน โดยขอให้มีขนาดราว 8x40 ซึ่งจะมีราคาอยู่ราว 2,000-4,000 บาท ซึ่งคุณภาพเพียงพอกับการดูนกแล้ว หลังจากนั้นก็สำรวจใจตัวเองว่าจะยังชอบการดูนกต่อไปไหม ถ้าแน่ใจว่าชอบการดูนกแน่นอนจึงค่อยซื้อกล้องที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราดูนกได้มีความสุขมากขึ้น ภาพนกที่ได้เห็นก็จะดีขึ้น ซึ่งกล้องพวกนี้มักจะเป็นแบบ Roof Prism ซึ่งมีราคาในราว 10,000-60,000 บาท ซึ่งไม่จำเป็นต้องซื้อกล้องที่มีราคาแพงมากนัก เพราะกล้องระดับนี้คุณภาพไม่ทิ้งกันขาดนัก กล้องราคาสี่หมื่นดีกว่ากล้องราคาหมื่นเดียวแน่นอน แต่จะคุ้มค่ากับราคาที่แตกต่างกัน 6เท่าหรือไม่ คงจะตอบได้ยาก แต่ถ้ามีงบเพียงพอ ก็ควรซื้อของดีไปเลย จะได้กล้องที่คุณภาพดี และภาพนกที่ได้เห็นก็จะดีที่สุดครับ

 

เทเลสโคป (Telescope) เป็นกล้องส่องทางไกลอีกชนิดหนึ่ง มีกำลังขยายมากกว่ากล้อง Binoc มักจะมีกำลังขยายมากกว่า 15 เท่าขึ้นไป มีเลนส์เพียงชุดเดียว จึงมองเห็นด้วยตาเพียงข้างเดียว ด้วยกำลังขยายที่มาก กล้องชนิดนี้จึงจำเป็นต้องใช้ร่วมกับขาตั้งกล้องจึงทำให้พกพาลำบาก และมักมีราคาแพงกว่ากล้อง Binoc การใช้งานก็จำกัดกว่า ดังนั้นเราควรจะซื้อเมื่อมีความพร้อม ่ถ้ามีงบเพียงพอก็ควรจะมีสัก 1 ตัว เพราะจะทำให้เราเห็นภาพนกได้ใกล้ขึ้น ชัดเจนขึ้น จนทำให้บางคนชอบการดูนกจากเทเลสโคปมากกว่าจากกล้อง Binoc เพราะดูแล้วสะใจกว่า นอกจากนั้นการดูนกบางชนิด เช่น นกชายเลนจำเป็นต้องใช้เทเลสโคปมาก เพราะนกจะอยู่ไกลและนกแต่ละชนิดมีรายละเอียดใกล้เคียงกัน

สำหรับคำแนะนำในการเลือกซื้อกล้องเทเลสโคป เนื่องจากกล้องชนิดนี้มีกำลังขยายมาก บางตัวมีกำลังขยายถึง 60 เท่า ด้วยกำลังขยายขนาดนี้ เมื่อแสงผ่านชิ้นเลนส์จึงมีการเบี่ยงเบนมากทำให้ภาพที่ได้ไม่ค่อยชัดเจน สีสันเพี้ยนไปมาก มักจะเกิดกับกล้องที่มีราคาถูก ส่วนกล้องที่มีคุณภาพสูงกว่าจะมีชิ้นเลนส์พิเศษที่เรียกว่า เลนส์ฟลูออไรด์ หรือบางทีก็เรียกว่า เลนส์ APO หรือเลนส์ ED ซึ่งจะแก้ความเบี่ยงเบนของแสงได้ทำให้ภาพคมชัด สีสันถูกต้อง เมื่อกล้องเทเลสโคปเป็นกล้องทางเลือก มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ฉะนั้นถ้าเราจะซื้อ เราก็ควรเลือกแบบที่ดีๆ ได้เห็นนกสวยๆ ชัดๆ
ส่วนขนาดของกล้องเทเลสโคป เนื่องกล้องชนิดนี้มีเลนส์ตา 2 แบบคือแบบ fix มีกำลังขยายเดียว และแบบซูมซึ่งจะมีกำลังขยายหลายอัตราในเลนส์ตัวเดียว เพื่อความสะดวก เลนส์ซูมค่อนข้างจะเหมาะสมกว่า กำลังขยายที่เหมาะสมอยู่ราว 20-60 เท่า ส่วนเลนส์เดี่ยวมีข้อดีคือภาพที่เห็นจะกว้างกว่า เพราะจะเป็นเลนส์แบบ Wide angle สำหรับเลนส์วัตถุไม่ควรต่ำกว่า 60 มม. ซึ่งราคาของกล้องประเภทนี้ ถ้าเป็นกล้องราคาถูกจะอยู่ในราว 6,000-12,000 บาท ส่วนกล้องที่มีชิ้นเลนส์ฟลูออไรท์ จะมีราคาอยู่ในราว 25,000-60,000 บาท

คู่มือดูนก Bird Guide

เป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะทำให้เราทราบว่านกที่เราเห็นเป็นนกอะไร มีลักษณะและความเป็นอยู่อย่างไร คู่มือดูนกมักประกอบด้วยคำบรรยายและภาพของนก ซึ่งมีทั้งภาพวาดหรือภาพถ่าย ในการจำแนกชนิดนกนั้นเราควรต้องใช้ทั้งสองส่วนประกอบกัน ภาพวาดจะให้รายละเอียดคราวๆ ของนกได้ นกบางชนิดเราสามารถใช้เพียงภาพวาดก็สามารถจำแนกชนิดได้ และบางชนิดเราต้องเอาคำบรรยายประกอบจึงจะให้ความถูกต้องมากกว่า เพราะมักจะมีคำอธิบายถึงความแตกต่าง และข้อสังเกตของนกแต่ละชนิดที่แตกต่างจากนกชนิดอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ทำให้การจำแนกชนิดนกถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น

คู่มือที่ได้รับความนิยมมี 2 เล่มคือ A guide to the birds of thailand ของหมอบุญส่งและ ฟิลิป ดี ราวด์ คู่มือเล่มนี้จะมีรูปวาดที่สวยกว่าและมีแผนที่จุดที่พบนกแต่ละชนิดในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยทันสมัย เนื่องจากเป็นข้อมูลเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว และมีนกเพียง 915 ชนิดเท่านั้น และขณะนี้มีรุ่นที่เป็นภาษาไทย และปรับปรุงข้อมูลจนมีนกกว่า 980 ชนิด

A Field Guide to the Birds of Thailand and south-east Asia ของเคร็ก ร็อบสัน คู่มือเล่มนี้จะมีรายละเอียดของนกแต่ละชนิดมากกว่า และมีภาพนกในประเทศไทยเกือบครบทุกชนิด คือราวๆ 970 ชนิด และยังครอบคลุมนกทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน รวมกันถึง 1250 ชนิดเลยทีเดียว โดยหนังสือเล่มนี้มี 2 รุ่น คือปกอ่อน และปกแข็ง โดยปกแข็งจะมีรายละเอียดมากกว่า ส่วนปกอ่อนจะพกพาสะดวก เพราะเบากว่า

ซึ่งจริงๆ แล้วก็ควรมีทั้งสองเล่ม แต่เบื้องต้นแนะนำว่าควรมีของหมอบุญส่งก่อน


 

เตรียมตัวดูนก

เนื่องจากเราจำเป็นต้องออกเดินทางไปดูนกตามที่ต่างๆ อยู่บ่อยๆ การจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ก็มีความสำคัญ แต่ว่ารูปแบบการเก็บของลงกระเป๋าแต่ละคนคงจะไม่เหมือนกัน แต่เราจะมาบอกของที่จำเป็นและไม่ควรลืมเมื่อต้องจัดกระเป๋าเพื่อไปเที่ยวดูนก

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย สำหรับการดูนกเสื้อผ้าก็มีส่วนสำคัญ เนื่องจากนกเป็นสัตว์ที่มีสายตาดี บางตัวก็มีความระมัดระวังและระแวงสูง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเลือกเสื้อผ้าที่จะทำไม่ให้เป็นเราเป็นจุดเด่นเกินไปจนทำให้นกรู้สึกไม่ปลอดภัย นอกจากนั้นเสื้อผ้ายังจะเป็นสิ่งที่ป้องกันเราจากสิ่งต่างๆ เช่นแมลง หนามไม้ สัตว์มีพิษ ความร้อน แสงแดด ฯลฯ ซึ่งมักพบทั่วไปในสถานที่ดูนกต่างๆ
ดังนั้นเราจึงควรเลือกเสื้อผ้าที่มีสีกลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น เมื่อเราไปดูนกตามป่า ก็ควรสวมใส่เสื้อผ้า สีเขียว สีน้ำเงิน หรือสีดำ ส่วนเสื้อผ้าสีอ่อนๆ เหมาะในการดูนกตามชายฝั่งทะเล เป็นต้น เสื้อก็ควรเป็นเสื้อแขนยาว กางเกงก็ควรเป็นกางเกงขายาว เพราะนอกจากจะพรางตัวเราได้ดีกว่าเสื้อแขนสั้นและกางเกงขาสั้นแล้ว ยังป้องกันเราจากแมลงและสัตว์มีพิษต่างๆ และยังป้องกันแสงแดดความร้อนได้อีกด้วย




หมวก ก็เป็นสิ่งที่สามารถช่วยเราพรางตัวได้เพราะหน้าผาก
และผมเป็นจุดเด่นที่สังเกตได้ง่าย นอกจากนั้นหมวกยังช่วย
ป้องกันความร้อน และสัตว์พวกแมลงที่บินได้อีกด้วย
หมวกมีให้เลือกหลายแบบ แล้วแต่ความพอใจของแต่ละคน

กระเป๋าเล็กๆ สักใบ เนื่องจากการดูนกเป็นกิจกรรม ที่ต้องออกไปอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ บางทีก็ตั้งแต่เช้ามืด กว่าจะกลับที่พักก็ค่ำ เราจึงควรมีกระเป๋าเล็กสักใบสำหรับใส่ของใช้ต่างๆ ที่จำเป็นระหว่างที่ออกไปดูนก โดยเฉพาะถ้าเป็นเป้เล็กๆ หรือที่เค้าเรียกว่า Daypack จะเหมาะมาก

รองเท้า ก็ควรจะสวมใส่สบาย พื้นรองเท้าควรจะยึดเกาะพื้นได้ดี โดยเฉพาะเมื่อเราต้องไปดูนกในป่า หรือตามลำธารเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ นอกจากนี้การไปดูนกบางแห่งก็จำเป็นต้องมีเครื่องแต่งกายเพิ่มเติม เช่น ถุงกันทาก ซึ่งจะช่วยเราป้องกันทากดูดเลือดที่มักจะพบทั่วไปตามป่าในบ้านเรา หรือเมื่อถึงฤดูหนาว เสื้อกันหนาว ก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งก็ควรมีสีสันกลมกลืนกับธรรมชาติเช่นเดียวกัน ส่วน แว่นกันแดด ก็ใช้ได้ดีเมื่อต้องดูนกกลางแดดจัดๆ อย่างเช่น การดูนกชายเลน เป็นต้น

 

เสื้อกันฝน หรือร่ม ควรจะมีติดไว้ เสื้อกันฝนมีหลายแบบ ทั้งแบบตัดเป็นตัวคล้ายกับเสื้อที่เราสวมใส่กัน หรือจะเป็นแบบค้างคาว ซึ่งเป็นผ้าสี่เหลี่ยมพับครึ่งและช่องให้ศรีษะรอดออกมา ซึ่งบางทีก็เรียกว่า ผ้าปันโจ และยังมีเสื้อกันฝนแบบชั่วคราวที่ทำจากพลาสติกใสๆ เสื้อกันฝนแบบปันโจ ค่อนข้างจะเหมาะกับการดูนกมากกว่า เพราะมีขนาดเล็กและเบากว่าเสื้อกันฝนแบบเป็นตัว และยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง เป็นฟลายชีตก็ได้ รองพื้น โดยเฉพาะเมื่อเราต้องสะพายเป้ เสื้อกันฝนแบบนี้ก็จะคลุมเป้ของเราด้วย ข้อเสียคือเมื่อใส่แล้วจะร้อน เนื่องจากทำจากผ้าใบที่ทึบ อากาศจึงไม่ถ่ายเท ส่วนเสื้อกันฝนแบบชั่วคราวก็เหมาะกับการดูนกในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูฝน เพราะมีน้ำหนักเบาที่สุด แต่ไม่ค่อยทนทาน เมื่อเราเดินเข้าไปในป่าที่ทึบสักหน่อย มักโดนกิ่งไม้เกี่ยวขาดเสมอ ส่วนร่ม อุปกรณ์กันฝนที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น ก็สามารถใช้ได้ดี ไม่ร้อนเหมือนเสื้อกันฝน และยังสามารถใช้ประโยชน์ในการบังแดดอีกด้วย

มีด เหมือนเครื่องมือสารพัดประโยชน์ ถ้าเป็นไปได้ควรมีมีดพกหรือมีดเดินป่าขนาดกลางๆ สักเล่ม เพราะมีดสามารถช่วยเราได้หลายๆ อย่าง นอกจากประโยชน์ที่เราคุ้นเคยแล้ว มีดยังสามารถเป็นอาวุธป้องกันตัวได้ด้วย

ของกิน ทั้งของกินหลักอย่างข้าวกลางวัน และของกินเล่น พวกขนมต่างๆ และควรจะมีขวดน้ำสักใบ ขนาดตามแต่ละคน นอกจากนั้นควรมีถุงพลาสติกสัก 2-3 ใบเอาไว้ใส่ขยะเหล่านี้ และยังเอาไว้ใส่ของต่างๆ เวลาฝนตกได้อีกด้วย

ยา สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่าลืม แต่ถึงจะไม่มี แต่ควรจะพก พลาสเตอร์ยา ยาหม่อง ยาแก้ปวด ยาดม ไปก็ดี เพราะมีโอกาสใช้อยู่ตลอดเวลา

 

นอกนั้นก็เป็นอุปกรณ์ดูนก กล้องส่องทางไกล คู่มือดูนก และน่าจะมีสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ ปากกาดินสอเอาไว้จดบันทึกเวลาเจอนกที่ไม่แน่ใจ ก็สามารถบันทึกรูปร่างสีสัน พฤติกรรม เพื่อมาหาข้อมูลเปรียบเทียบภายหลังได้ และยังเอาไว้จดจุดที่พบนกแปลกๆ รายละเอียดสถานที่ รวมทั้งผู้คนที่พบเจอ เพื่อนำมาบอกเล่าอธิบายแก่ผู้อื่นต่อไป

 

การค้นหานก

หัดใช้กล้องส่องทางไกล เพราะนักดูนกใหม่ๆ มักจะมีปัญหาเห็นนกด้วยตาเปล่าแล้ว แต่พอยกกล้องขึ้นส่องดู กลับหานกไม่เจอ วิธีแก้ไขก็คือต้องหัดใช้กล้องให้คล่องก่อน เราสามารถหัดใช้กล้องได้แม้จะไม่ได้ไปดูนก เช่นอยู่ที่บ้าน เราก็ลองมองไปที่วัตถุสักชิ้นหนึ่ง กิ่งไม้สักกิ่งหนึ่ง แล้วลองยกกล้องขึ้นส่องดู พยายามค้นหาและปรับโฟกัสภาพให้เร็วที่สุด พยายามซ้อมจนสามารถยกกล้องแล้วเล็งไปที่วัตถุนั้นได้ทันทีและสามารถปรับโฟกัสได้ใน 1 วินาที เพราะการออกไปดูนกในสนามนั้น นกบางชนิดมีเวลาให้เราดูไม่ถึง 2 วินาทีด้วยซ้ำ ดังนั้นความรวดเร็วของการใช้กล้องจึงสำคัญมาก อีกเทคนิคหนึ่งคือ ขณะที่เรามองด้วยตาเปล่านั้น พยายามหาจุดเด่นของสิ่งที่นกเกาะอยู่ ปลายกิ่งไม้ ดอกไม้ เป็นต้น เมื่อยกกล้องขึ้นส่องแล้ว ก็รีบหาจุดเด่นนั้น ก่อนที่จะเลื่อนกล้องไปยังจุดที่นกเกาะอยู่ อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ คือ

การปรับโฟกัสไว้ล่วงหน้า เมื่อเราดูนกเสร็จ ส่วนใหญ่มักจะปล่อยตำแหน่งโฟกัสไว้ที่ตำแหน่งสุดท้าย ถ้านกตัวสุดท้ายเราดูใกล้ๆ แล้วเราเจอนกตัวต่อไปซึ่งอยู่ไกล เมื่อเรายกกล้องขึ้นส่อง ภาพที่เห็นจะเบลอจนดูไม่รู้เรื่อง เนื่องจากภาพหลุดโฟกัสไปมาก เราต้องมาเสียเวลาปรับโฟกัสอยู่นาน ดังนั้นเราควรจะปรับโฟกัสทิ้งไว้ที่ระยะราว 10 เมตรไว้ตลอดเวลา เมื่อเราเจอนกตัวต่อไป เราก็จะไม่เสียเวลาโฟกัสนาน และภาพที่ได้เห็นเมื่อยกกล้องส่องดูครั้งแรก จะยังพอมองออกว่าเป็นภาพอะไร ทำให้หานกได้ง่ายขึ้นครับ

ใช้สัมผัส อันนี้ค่อนข้างยาก เพราะแต่ละคนมีประสาทสัมผัสต่างกัน บางคนหูดี บางคนตาดี แต่ก็พยายามใช้สัมผัสที่เราแต่ละคนมีอยู่ให้มากที่สุด สำหรับเทคนิคในการใช้ประสาทสัมผัส ก็คือสังเกตสิ่งที่แปลกปลอมครับ

เริ่มด้วยการใช้สายตา เราต้องสังเกตว่ามีอะไรแปลกๆ ไหม เช่น ไม่มีลมพัดแต่กลับเห็นใบไม้หรือกิ่งไม้ไหว ก็น่าสงสัยว่าต้องมีสัตว์อยู่ตรงนั้น หรือจะเป็นการสังเกตเห็นกิ่งไม้ที่ดูแปลกตาเพราะกิ่งไม้เปล่ากับกิ่งไม้ที่มีนกเกาะจะแตกต่างกัน แม้แต่การสังเกตสิ่งแวดล้อมอย่างพืชพรรณต่างๆ ก็มีส่วน เช่นเจอต้นกล้วย ก็มีโอกาสพบนกปลีกล้วย พบดอกไม้ที่นกชอบกิน ก็ลองเฝ้าอยู่สักพัก อาจจะมีนกกินปลีมาดูดน้ำหนาวก็ได้ นอกจากพืชแล้วยังมีสิ่งที่ให้สังเกตอีก เช่น โพรงรัง ลำธาร ต้นไทรที่ออกลูก หนองน้ำที่มีแมลงมากๆ ล้วนแต่เป็นแหล่งอาหารของนก จึงมีโอกาสที่มันจะมาแวะเวียนอยู่เสมอ

ต่อไปก็เรื่องการใช้หูฟัง หลักๆ ก็คงเป็นเสียงร้องของนก เช่น ถ้าเราได้ยินเสียงนกพญาไฟ เราก็ต้องพยายามส่องหาบนยอดไม้ แต่ถ้าได้ยินเสียงนกกินแมลงก็ต้องพยายามส่องหาตามพื้น แต่เราคงจะไม่สามารถจำเสียงนกได้หมด การหาทิศทางของเสียงก็สำคัญ ต้องหัดหาทิศทางของเสียงให้ได้ก่อนซึ่งจะได้จากประสบการณ์ ถ้าเราดูนกบ่อยๆ ก็จะหาทิศทางของเสียงได้เก่งขึ้น มีเทคนิคอันหนึ่งสำหรับการหาทิศทางของเสียง ก็คือหลับตาครับ แล้วจึงค่อยๆ ฟังว่าเสียงมาจากทางไหน อีกสิ่งหนึ่งสำหรับการใช้ประสาทหูก็คือ การฟังเสียงแปลกปลอม เช่นเสียงใบไม้ เสียงคุ้ยเขี่ยใบไม้ เสียงกระพือปีก นี่ก็เป็นเสียงที่เราควรสังเกตไว้เวลาที่เราออกไปดูนกครับ

นหนังสือมากๆ และหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ เนื่องจากนกเป็นสัตว์ที่มาความหลากหลาย ในประเทศไทยเองก็มีนกมากกว่า 960 ชนิด นกแต่ละชนิดก็มีลักษณะนิสัยแต่งต่างกันออกไป บางชนิดก็ชอบอยู่ป่าละเมาะเช่น บรรดานกคุ่มต่างๆ บางชนิดก็พบมากในป่าชายเลน บางชนิดก็อาศัยอยู่เฉพาะป่าดงดิบ บางชนิดหากินกลางคืน บางชนิดก็ปรากฏตัวตอนช่วงเช้าตรู่และพลบค่ำอย่าง นกโป่งวิด (Painted Snipe) ถ้าเราทราบพฤติกรรม ลักษณะนิสัยของนก การหาตัวมันก็ไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนข้อมูลเบื้องต้นเราก็สามารถหาอ่านได้จากคู่มือดูนก (Bird Guide) จากนั้นก็หาอ่านเพิ่มเติมจากหนังต่างๆ นอกจากนั้นยังมีสื่ออื่นๆ เช่น กระดานข่าวทาง Intranet มักจะมีการรายงานข่าวสาร การพบนกชนิดต่างๆ อยู่เสมอ การติดตามข่าวสารทำให้เราสามารถตามไปดูนกเหล่านั้นได้ทันเวลา เพราะนกบางชนิดจะอพยพผ่านประเทศไทยเป็นเวลาช่วงสั้นๆ และแหล่งอาหารบางแห่งกำลังมีอาหาร เช่น ต้นไม้กำลังออกผล และมีนกกำลังเข้าหากิน เป็นต้น

   

 

<-back